การสร้างบ้านประหยัดพลังงาน ให้อยู่สบาย ประหยัดพลังงาน ลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว

ยุคสมัยนี้หลายคนให้ความสนใจและใส่ใจในเรื่องความประหยัด ฉะนั้นไม่ว่าอะไรที่สมควรที่จะประหยัดได้ก็ควรประหยัด เพราะทรัพยากรธรรมชาติเริ่มน้อยลงไปทุกที ไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน , ต้นไม้ , ภูเขา , แม่น้ำลำธาร หรือแม้กระทั้งอากาศที่เราใช้หายใจ เราจึงควรที่จะหันมาใส่ใจอย่างจริงจังกันสักที เพื่อลดผลกระทบที่จะตามมาภายหลังและให้โลกกลับมาน่าอยู่ยิ่งขึ้น

ทุกวันนี้พวกเรามีค่าใช้จ่ายในบ้านมากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ค่าภาษี ค่าประกัน ฯลฯ ยิ่งค่าไฟเดี๋ยวนี้แพงขึ้นทุกวัน ยิ่งในช่วงหน้าร้อนอาจจะต้องจ่ายเป็นสองเท่าของหน้าหนาว เพราะประเทศไทยเป็นเมืองร้อน เราจึงควรออกแบบบ้านให้เย็นโปร่งโล่งสบาย และป้องกันความร้อนให้เหมาะกับภูมิ อากาศเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเปลืองค่าแอร์มากในแต่ละเดือน เคล็ดลับดีๆ มาแนะนำว่าสร้างบ้าน บ้านประหยัดพลังงาน อย่างไรให้ประหยัดพลังงาน เพื่อที่คุณจะได้มีเงินเก็บเพิ่มขึ้น

1. รั้วบ้านควรเป็นแบบโล่งโปร่ง
วัสดุและแบบของรั้วบ้านนั้นสำคัญ ทางที่ดีควรเป็นแบบโปร่งเพื่อปล่อยให้ลมสามารถถ่ายเทได้ และไม่ควรทำจากวัสดุเก็บความร้อนเช่นอิฐมอญหรือคอนกรีตเสริมเหล็ก

2. ปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้าน
ต้นไม้ใบหญ้านั้นสามารถช่วยสร้างร่มเงา บังแดดที่จะส่องมากระทบตัวบ้าน และยังช่วยลดความร้อนอีกด้วย แต่ทว่าในการปลูกต้นไม้ใหญ่ คุณควรเว้นระยะจากตัวบ้านสักเล็กน้อยเพราะว่ารากไม้นั้นสามารถสร้างความเสียหายกับโครงสร้างบ้านได้

3. อย่าสร้างลานคอนกรีตในบ้าน
อย่าสร้างลานคอนกรีตในทิศทางที่แดดส่อง เพราะคอนกรีตเป็นวัสดุเก็บความร้อนในตอนกลางวัน และจะถ่ายเทความร้อนสู่ตัวบ้านในเวลากลางคืน หากเป็นไปได้ควรใช้วัสดุอื่นแทนคอนกรีต

4. สร้างบ้านให้ถูกทิศ
ในประเทศเรานั้น ทิศตะวันตกและทิศใต้มีอิทธิพลจากแสงแดดรุนแรงเป็นเวลา 8-9เดือนต่อปี เพราะมุมของแสงแดดที่ส่องนั้นเป็นมุมต่ำที่เข้าสู่อาคารได้ง่าย เพราะฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการสร้างบ้านที่หันไปทางสองทิศดังกล่าว และควรนำทิศทางลมมาประกอบการตัดสินใจของคุณด้วย หากจำเป็นต้องสร้างบ้านที่หันไปทางทิศทางรับแดดจริงๆ ก็ควรสร้างกันสาดเพื่อบังแดดด้วย

5. ปูแผ่นพลาสติกในพื้นชั้นล่าง!
ในส่วนของชั้นล่างหรือ Ground floor คุณควรปูแผ่นพลาสติกในส่วนของโครงสร้างพื้นเพื่อลดความชื้นที่สามารถระเหยขึ้นมาจากพื้นดินและลดภาระของเครื่องปรับอากาศ ส่งผลให้ค่าไฟลดลงตามไป

6. ประตูหน้าต่างควรมีทางลม
คุณควรวางทิศทางของประตูและหน้าต่างไว้ในทิศที่ระบายลมได้ดี และอย่าลืมติดตั้งมุ้งลวดเพื่อกรองฝุ่นผงที่สามารถปลิวเข้ามาในบ้านด้วย กระทั่งเฟอร์นิเจอร์คุณก็ควรวางโดยดูทิศทางของกระแสลมให้อย่าขวางทางลม อีกทั้งชนิดของประตูและหน้าต่างก็มีความสำคัญ เช่นว่าหน้าต่างบานเปิดสามารถรับกระแสลมได้ดีที่สุดแต่ต้องจัดวางในตำแหน่งที่เหมาะสมหรือตำแหน่งที่รับลมได้ดี

7. อย่ามีแหล่งน้ำในห้องปรับอากาศ
แหล่งน้ำในที่นี้รวมถึงบ่อปลาหรือน้ำพุ ซึ่งจะเพิ่มความชื้นแก่ห้องที่อยู่อาศัย และเพิ่มภาระแก่เครื่องปรับอากาศของคุณ เพราะเครื่องปรับอากาศนั้นจะลดความชื้นและลดอุณหภูมิ จำไว้ว่ายิ่งความชื้นมากก็จะยิ่งกินไฟมาก

8. แยกครัวออกจากตัวบ้าน
การทำอาหาร โดยเฉพาะอาหารไทยจะทำให้เกิดความร้อนในบ้าน ทั้งจากเตาไฟ เตาแก๊ส และเตาอบ หากสามารถกำหนดได้ก็ควรสร้างห้องครัวให้แยกจากตัวบ้านเพื่อลดอุณหภูมิ

9. ใส่ฉนวนกันความร้อนและช่องระบายอากาศที่หลังคาเสมอ
ฉนวนกันความร้อนจะเป็นตัวป้องกันไม่ให้ความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน คุณควรติดตั้งฉนวนในทุกห้องที่มีเครื่องปรับอากาศและบนหลังคา การมีช่องระบายอากาศจะช่วยระบายความร้อนซึ่งถูกกักเก็บไว้บริเวณใต้หลังคา แต่ก็ต้องติดตั้งตาข่ายเอาไว้กันพวกสัตว์เล็กต่างๆ เข้าไปทำรังในนั้นด้วย

10. ทาผนังด้วยสีอ่อน
สีเข้มกักความร้อนได้ดีกว่าสีอ่อน เพราะฉะนั้นการทาผนังด้วยสีอ่อนก็จะช่วยลดอุณหภูมิได้ในระดับหนึ่ง แต่หากคุณอยากจะทาสีเข้มจริงๆ ก็ควรติดฉนวนกันความร้อนไว้